วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง


สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยม ด้วยเอกลักษณ์ ลีลา และ รูปแบบเฉพาะตัว อีกทั้งยังแต่งเพลงร้องเองเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ สุรพลชอบใช้เพลงจังหวะรำวงในเพลงที่เขาแต่ง ผลงานเพลงของเขามีลีลาสนุกสนานครึกครื้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น เพลงเสียวไส้ เพลงของปลอม ฯลฯ
ยุคของสุรพล สมบัติเจริญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งพัฒนามาถึงจุดสุดยอด เป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2506 –2513 ในช่วงนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ได้ออกผลงานเพลงลูกทุ่งออกมาเป็นจำนวนมากมาย นักแต่งเพลงรุ่นนี้สืบทอดการแต่งเพลงมาจากครูเพลงในยุคต้น ตัวอย่างเช่นพีระ ตรีบุปผา เป็นศิษย์ของสมยศ ทัศนพันธ์ ส่วนศิษย์ของวงดนตรีจุฬารัตน์ ได้แก่ พร ภิรมย์ สุชาติ เทียนทอง และชาย เมืองสิงห์ นักแต่งเพลงที่สำคัญท่านอื่น ๆ อาทิ เพลิน พรหมแดน จิ๋ว พิจิตร สำเนียง ม่วงทอง ฉลอง การะเกด ชาญชัย บัวบังศรี สมเสียร พานทอง ฯลฯ
เจน ภพ จบกระบวนวรรณ กล่าวไว้ในหนังสือ ดวลเพลงลูกทุ่ง ว่า “เพลงลูกทุ่งเฟื่องฟูสุดขีดในยุคสมัยของครูสุรพล สมบัติเจริญ (ประมาณปี 2504-2511) และหลังจากครูสุรพลถูกลอบยิงตายในขณะที่ชื่อเสียงกำลังเกรียงไกร หลังจากนั้นเพลงลูกทุ่งก็พุ่งขึ้นสู่ความนิยมชมชอบของผู้คนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง”
และยังมีนักร้องลูกทุ่งเกิดขึ้นใหม่ หลายคน นักร้องเด่นของยุคนี้ได้แก่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลิน พรหมแดน พร ภิรมย์ ชาย เมืองสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ก้าน แก้วสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ผ่องศรี วรนุช สุชาติ เทียนทอง ฯลฯ
ยุคแห่งการแข่งขัน
ใน ช่วงปี พ.ศ. 2513–2515 ในวงการเพลงลูกทุ่งเองก็มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งยังเกิดการแข่งขันระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งสูง นักแต่งเพลงพยายามสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวของนักร้องแต่ละคน มีนักร้องเพลงลูกทุ่งบางคนได้สู่บทบาทการแสดงภาพยนตร์ บางคนถึงแสดงเป็นตัวเอกโดยเฉพาะในภาพยนตร์เพลง ภาพยนตร์บางเรื่องนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบเป็นเพลงเอก อย่างเช่นเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ประสบความสำเร็จ ทำรายได้เป็นอย่างดี นำแสดงโดยพระเอกขวัญใจในยุคนั้นคือ มิตร ชัยบัญชา เพลงเอกชื่อเดียวกับภาพยนตร์ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักร้องเพลงลูกทุ่งร่วมแสดงด้วย ได้แก่ บุปผา สายชล โดยขับร้องเพลงดังในภาพยนตร์ชื่อ ยมพบาลเจ้าขา
เมื่อภาพยนตร์ เรื่องมนต์รักลูกทุ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์โดยมีการแสดงเพลงลูกทุ่งประกอบอีกหลายเรื่องใน ลักษณะเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุคของภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง” นักร้องที่เกิดจากภาพยนตร์แนวนี้และโด่งดังในวงการเพลงลูกทุ่งต่อมา ได้แก่ สังข์ทอง สีใส โดยเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน และแสดงคู่กับพระเอกไชยา สุริยัน นักร้องคนอื่น เช่น ระพิน ภูไท เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ศรคีรี ศรีประจวบ สมัย อ่อนวงศ์ พนม นพพร ยุพิน แพรทอง ชาตรี ศรีชล กาเหว่า เสียงทอง กังวานไพร ลูกเพชร ฯลฯ และยังสร้างนักแต่งเพลงให้ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ อาทิ กานท์ การุณวงศ์ ฉลอง ภู่สว่าง ช. คำชะอี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ ฯลฯ
วง การดนตรีลูกทุ่งมีการประชันขันแข่งสูงมาก ซอยบุปผาสวรรค์เริ่มกลายมาเป็นชุมชนคนลูกทุ่งในช่วงนี้เองหลังจาก เพลิน พรหมแดน ย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรกเมื่อปี 2512
เพลงลูกทุ่งยุคเพลงเพื่อชีวิตและการเมือง
หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ในวงการเพลงเกิดวงดนตรีแนวที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ส่วนเพลงลูกทุ่งก็อยู่ในยุคเพลงเพื่อชีวิตเช่นกัน เนื้อหาเพลงลูกทุ่ง ได้สอดแทรกเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิต โดยในยุคนั้นมีเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตเป็นจำนวนมาก นักร้องเพลงลูกทุ่งมักกล่าวถึงชีวิตชนบทและความยากจนค่นแค้นอยู่แล้ว เนื้อหาจะเน้นปัญหาชาวไร่ชาวนาและกรรมกรให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เพลงลูกทุ่งในยุคนั้นเช่น เพลงข้าวไม่มีขาย หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เสียนาเสียนาง เราคนจน โอ้ชาวนา ฯลฯ

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2516–2519 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องเพลงล้อเลียนการเมือง เพลงเหล่านี้มักเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งผสมบทพูด แฝงแง่คิดหรือการวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างคมคาย และสร้างความบันเทิงขำขันให้แก่ผู้ฟัง ผู้ที่แต่งเพลงแนวนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ สงเคราะห์ สมัตถภาพงษ์ ซึ่งส่วนใหญ่ขับร้องโดย เพลิน พรหมแดน ตัวอย่างเช่น เพลงกำนันผันเงิน พรรกระสอบหาเสียง ฯลฯ นักแต่งเพลงท่านอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จสูงในยุคนี้ได้แก่ ชลธี ธารทอง ธงชัย เล็กกำพล โผผิน พรสุพรรณ สดใส ร่มโพธิ์ทอง กู้เกียรติ นครสวรรค์

นักแต่งเพลงส่วน ใหญ่จะแต่งเพลงส่วนใหญ่ให้กับนักร้องเป็นรายบุคคลไป ส่วนนักร้องมักมีวงดนตรีของตนเอง ตลอดจนผลิตแผ่นเสียงหรือบันทึกเทปจำหน่ายเอง นักร้องที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้ได้แก่ สายัณห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ สัญญา พรนารายณ์ บานเย็น รากแก่น น้ำอ้อย พรวิเชียร ฯลฯ เป็นต้น
หลัง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพลงลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิตก็ซาลง บทเพลงมีเนื้อหากลับมาบรรยายเรื่องของความรัก ความเศร้า และความงามของสาวชาวไร่ชาวนาเช่นเดิม เช่น เพลงรักสาวชาวไร่ น้ำตาชายเหนือ สิ้นทางรัก ฯลฯ และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจพัฒนารุดหน้ามากขึ้น ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานประกอบอาชีพของชาวชนบทเข้าสู่เมืองหลวง บทเพลงลูกทุ่งสะท้อนชีวิตและปัญหาของบุคคลเหล่านี้ซึ่งประกอบอาชีพเป็นสาว ใช้ สาวบาร์ หมอนวด กรรมกร ลูกจ้าง ตลอดจนไปขายแรงงานในกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น เพลงฉันทนาที่รัก พาร์ทเนอร์เบอร์ห้า สาวโรงทอรอรัก หนุ่มกระเป๋า ไอ้หนุ่มรถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ
ปรากฏการณ์ใหม่ในวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่ง
ใน ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2520–2528 วงการเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงได้กำเนิด นักร้องเป็นจำนวนมาก วงดนตรีเพลงลูกทุ่งได้เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้น มีการแสดงเพลงลูกทุ่งมีการประกวดประชันการเต้นและเครื่องแต่งกายของหาง เครื่องประกอบด้วย นักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งในช่วงเวลานี้ เช่น ชลธี ธารทอง ฉลอง ภู่สว่าง คัมภีร์ แสงทองวิเชียร คำเจริญ ชัยพร เมืองสุพรรณ สุชาติ เทียนทอง ชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ดอย อินทนนท์ ดาว บ้านดอน ฯลฯ
นักร้อง ชายที่อยู่ในความนิยม เช่น สายัณห์ สัญญา เกรียงไกร กรุงสยาม สุรชัย สมบัติเจริญ ยอดรัก สลักใจ ศรชัย เมฆวิเชียร ศรเพชร ศรสุพรรณ พร ไพรสณฑ์ ฯลฯ
นักร้องเพลงลูกทุ่งหญิงที่ได้รับการขนานนามว่าราชินีลูกทุ่งใน ยุคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องหญิงที่ได้รับความนิยมนอกจากพุ่มพวงได้แก่ นันทิดา แก้วบัวสาย ดาวใต้ เมืองตรัง หงษ์ทอง ดาวอุดร สดศรี พรหมเสกสรร อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์ ฯลฯ
ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เกิดแฟชั่นการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องแนวสตริง ซึ่งเป็นผลให้มีการแสดงคอนเสิร์ตขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งด้วย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตได้รับความนิยมอย่างสูง จัดขึ้นประมาณกลางปี พ.ศ. 2529 ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ในขณะที่เพลง กระแซะ ของเธอมีความโด่งดังอย่างมาก
ในช่วงปี 2531-2535 เป็นช่วงที่ซบเซาสำหรับวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะช่วงนี้เพลงสตริงสมัยใหม่ และวัฒนธรรมทางดนตรีจากต่างชาติ เข้าหลั่งไหลทะลักมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ สำหรับวงการเพลงสตริง แต่เพลงลูกทุ่ง กลับไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ๆ จนกระทั่ง มีบทเพลง ๆ หนึ่ง ที่ทำให้ลูกทุ่งฟื้นคืนชีพใหม่ และสง่างามมาได้คือ “สมศรี 1992″ ของ “ยิ่งยง ยอดบัวงาม” เลยเกิดกระแสเพลงลูกทุ่งลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 2535 และช่วงเวลาเดียวกัน ก็เกิดเพลงผสมผสาน ลูกทุ่ง+สตริง มาในสมัยนี้ แต่เรียกเพลงสไตล์นี้ว่า “เพลงร่วมสมัย” เพราะยังติดคำร้องลูกทุ่ง แต่ทำนอง และดนตรี จะออกเหมือนเพลงจีน ๆ คำร้อง สไตล์เมียน้อย เมียเก็บ เช่นเพลง “ทางใหม่” ของ “นิตยา บุญสูงเนิน” แต่ดูโดยรวมลักษณะ ก็ไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง และไม่ใช่เพลงสตริงวัยรุ่น และปี 2538-2542 เพลงลูกทุ่ง เริ่มมีการผสมผสานหลากหลายมากขึ้น จนสไตล์ แท้ ๆ แบบลูกทุ่งชาวบ้าน แทบเลือนหายไป
เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน
ใน ปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2541 มีศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งของค่ายเพลงหน้าใหม่ ตลาดเพลงลูกทุ่งเป็นตลาดใหญ่ เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมอีกครั้ง เนื่องมาจาก ได้มีการทำละครมนต์รักลูกทุ่งของอาร์เอส และฮิตติดตลาด ต่อมากับการกลับเข้ามาแจ้งเกิดของ ก๊อด จักรพรรณ์ อาบครบุรี กับอัลบั้มเพลงที่นำเพลงเก่ามาทำใหม่ เพลงลูกทุ่งชุดสองที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักฟังเพลงรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และการเกิดขึ้นของเพลงลูกทุ่งในคลื่นเอฟเอ็ม นำทีมบริหารโดย วิทยา ศุภพรโอภาส นอกจากนี้ยังมีศิลปินแนวสตริงและแนวเพื่อชีวิตหลายคนที่หันมาทำเพลงลูกทุ่ง ทดแทนการอิ่มตัวที่จะสามารถอยู่ในวงการอย่าง ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ต้อม เรนโบว์ เทียรี่ เมฆวัฒนา เป็นต้น
ในยุคก่อนเพลงลูกทุ่งจะเปิด เฉพาะในคลื่นเอเอ็มเท่านั้น ในปัจจุบันทีวีก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เกมโชว์เอานักร้องเพลงลูกทุ่งไปเล่น ภาพยนตร์ ละครเอาลูกทุ่งไปเล่น และกลายเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ขึ้น
ครูเพลงบางคนถึงกับกล่าวว่า เพลงลูกทุ่งในสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะขาดเอกลักษณ์ของการขึ้นต้น เรื่องราวตรงกลาง และตอนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสัมผัสนอก-ใน ตลอดจนการเปรียบเทียบ ส่วนเนื้อหาของเพลงไปทางล้ำเส้นศีลธรรม เพลงในทำนองนี้อย่างเช่นเพลง “เด็กมันยั่ว” ของยอดรัก “อกหักซ้ำเฒ่า” ของ ไกรสร เรืองศรี “เรียกพี่ได้ไหม” ของ เสรีย์ รุ่งสว่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น